เฟซบุ๊ก (Facebook) เป็น บริการเครือข่ายสังคมสัญชาติอเมริกัน สำนักงานใหญ่อยู่ที่ เมนโลพาร์ก รัฐแคลิฟอร์เนีย เฟซบุ๊กก่อตั้งเมื่อวัน พุธที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2004 โดยมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก และเพื่อนร่วมห้องภายในมหาวิทยาลัย และเหล่าเพื่อนในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พร้อมโดยสมาชิกเพื่อนผู้ก่อตั้ง Eduardo Saverin, Andrew McCollum, Dustin Moskovitz และ Chris Hughes
ประวัติ
เฟซบุ๊กมักถูกวิจารณ์ในหลายปัญหา เช่นความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ (จากเรื่องอื้อฉาวในข้อมูลเคมบริดจ์แอนะลิติกา), การชักใยทางการเมือง (จากการเลือกตั้งสหรัฐ ค.ศ. 2016), การสอดแนมมวลชน, ผลกระทบทางจิตวิทยาเช่นการเสพติดและความภูมิใจแห่งตน และข้อมูลอย่างข่าวปลอม, ทฤษฎีสมคบคิด, การละเมิดลิขสิทธิ์ และประทุษวาจา นักวิจารณ์กล่าวหาเฟซบุ๊กว่าจงใจอำนวยความสะดวกในการเผยแพร่เนื้อหาดังกล่าว เช่นเดียวกันกับการระบุจำนวนผู้ใช้เกินจริงเพื่อดึงดูดโฆษณา
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ได้เริ่มเขียนเว็บไซต์ เฟซแมช ขึ้นมาก่อนที่จะเป็นเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 2003 ขณะที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด โดยเป็นเว็บไซต์ที่เปรียบเสมือนเว็บ ฮอตออร์น็อต ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด และจากข้อมูลของหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยที่ชื่อ The Harvard Crimson เฟซแมชใช้ภาพที่ได้จาก เฟซบุ๊ก หนังสือแจกสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยที่มีรูปนักศึกษา จากบ้าน 9 หลัง โดยจะมีรูป 2 รูปให้คนเลือกว่า ใครร้อนแรงกว่ากัน
เฟซบุ๊กได้เป็นบริษัทในฤดูร้อนปี ค.ศ. 2004 และได้นักธุรกิจ ฌอน พาร์กเกอร์ ที่ได้เคยแนะนำซักเกอร์เบิร์กอย่างเป็นกันเอง ก็ได้ก้าวมาเป็นประธานของบริษัท. ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2004 เฟซบุ๊กได้ย้ายฐานปฏิบัติงานมาอยู่ที่ แพโลอัลโต รัฐแคลิฟอร์เนีย และได้รับเงินทุนในเดือนนั้นจากผู้ร่วมก่อตั้ง เพย์พาล ที่ชื่อ ปีเตอร์ ธีล บริษัทได้เปลี่ยนชื่อ โดยลดคำว่า เดอะ ออกไป และซื้อโดเมนเนมใหม่ในชื่อ เฟซบุ๊ก.คอม ในปี ค.ศ. 2005 ด้วยเงิน 2 แสนดอลลาร์สหรัฐ
เฟซบุ๊กได้เปิดตัวในรูปแบบของโรงเรียนไฮสคูล ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2005 ที่ซักเกอร์เบิร์กเรียกว่า ก้าวต่อไปที่มีเหตุผล ณ เวลานั้นในเครือข่ายไฮสคูล ต้องการการรับเชิญเท่านั้นเพื่อร่วมเว็บไซต์ ต่อมาเฟซบุ๊กได้ขยับขยายให้กับลูกจ้างบริษัทที่คัดสรรอย่าง แอปเปิล และ ไมโครซอฟท์ เฟซบุ๊กได้เปิดตัวเมื่อวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 2006 ให้ทุกคนได้ใช้กัน โดยต้องมีอายุมากกว่า 13 ปี และมีอีเมลที่แท้จริง
ในวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 2007 ไมโครซอฟท์ประกาศว่าได้ซื้อหุ้นของเฟซบุ๊กเป็นจำนวน 1.6% ด้วยเงิน 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เฟซบุกมีมูลค่าราว 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้ไมโครซอฟท์มีสิทธิ์ที่จะแขวนป้ายโฆษณาบนเฟซบุ๊กได้ ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2008 เฟซบุกประกาศว่าจะตั้งสำนักงานใหญ่ระดับนานาชาติในดับลิน ประเทศไอร์แลนด์
ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2009 เฟซบุ๊กได้กล่าวว่า สถานะการเงินเริ่มเป็นตัวเลขบวกเป็นครั้งแรก ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2010 จากข้อมูลของ เซคันด์มาร์เก็ต ระบุว่าเฟซบุกมีมูลค่า 41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (แซงหน้าอีเบย์ไปเล็กน้อย) และถือเป็นบริษัทเว็บไซต์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับ 3 รองจากกูเกิลและแอมะซอน สถิติผู้เข้าชมในเฟซบุ๊กหลังปี ค.ศ. 2009 ผู้ชมเฟซบุ๊กมากกว่ากูเกิลในปลายสัปดาห์ของสัปดาห์ 13 มีนาคม ค.ศ. 2010
รายได้ส่วนมากของเฟซบุ๊กมาจากการโฆษณา โดยไมโครซอฟท์เป็นผู้ร่วมหุ้นพิเศษในด้านการบริการแบนเนอร์โฆษณา และเฟซบุ๊กให้มีการโฆษณาเฉพาะที่อยู่ในรายการลูกค้าของไมโครซอฟท์ และจากข้อมูลของคอมสกอร์ บริษัทสำรวจการตลาดทางอินเทอร์เน็ต ระบุว่า เฟซบุ๊กได้รวบรวมข้อมูลเข้าเว็บไซต์มากกว่า กูเกิลและไมโครซอฟท์ แต่น้อยกว่า ยาฮู! ในปี ค.ศ. 2010 ทีมระบบความปลอดภัยได้เพิ่มประโยชน์จากการต่อต้านภัยคุกคามและก่อการร้ายจากผู้ใช้ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007 เฟซบุ๊กได้เปิดตัว เฟซบุ๊กบีคอน เป็นการพยายามในการโฆษณาให้เหล่าเพื่อน โดยใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เพื่อนซื้อ แต่เฟซบุ๊กบีคอนก็เกิดความล้มเหลว
โดยปกติแล้ว เฟซบุ๊กจะมีอัตราการคลิกโฆษณาต่อการการแสดงโฆษณา (clickthrough rate) ต่ำกว่าเว็บไซต์ใหญ่ ๆ อื่น ที่ในแบนเนอร์โฆษณา เฟซบุ๊กจะมีอัตราการคลิก 1 ต่อ 5 เทียบกับเว็บไซต์อื่น นั่นหมายถึงว่ามีเปอร์เซ็นต์ที่น้อยกว่า ที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กจะกดคลิกโฆษณา ตัวอย่างเช่น ผู้ใช้กูเกิลคลิกโฆษณาแรกในการค้นหาเฉลี่ย 8% (80,000 คลิกในทุก 1 ล้านการค้นหา) แต่ผู้ใช้เฟซบุ๊กจะคลิกโฆษณาในอัตรา 0.04% (400 คลิกในทุก 1 ล้านหน้า)
แซราห์ สมิท ผู้จัดการบริการงานขายออนไลน์ของเฟซบุ๊ก ยืนยันว่า การรณรงค์โฆษณาประสบความสำเร็จ สามารถมีอัตราการคลิกโฆษณาต่อการการแสดงโฆษณา (CTR) ต่ำอยู่ราว 0.05% ถึง 0.04% แต่อัตราการคลิกโฆษณาต่อการการแสดงโฆษณาสำหรับโฆษณามีแนวโน้มจะตกลงภายใน 2 อาทิตย์ เมื่อเปรียบเทียบ CTR กับมายสเปซแล้ว มียอดประมาณ 0.1% ซึ่งเป็น 2.5 เท่าของเฟซบุ๊ก และต่ำกว่านี้เมื่อเทียบกับเว็บไซต์อื่น
คำอธิบายเรื่อง CTR สำหรับโฆษณาที่ต่ำในเฟซบุ๊กเนื่องจาก ข้อเท็จจริงที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กเป็นผู้รอบรู้ทางเทคโนโลยีและใช้ซอฟต์แวร์ป้องกันและซ้อนโฆษณา ผู้ใช้มักเป็นคนหนุ่มสาวกว่าและชอบที่จะหลีกเลี่ยงข้อความโฆษณา ที่ในมายสเปซแล้วผู้ใช้จะเข้าถึงเนื้อหามากกว่า ในขณะที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กจะใช้เวลาในการสื่อสารกับเพื่อน เป็นเหตุให้พวกเขาไปสนใจโฆษณา
ในหน้าของตราสินค้าและผลิตภัณฑ์ ในบางบริษัทมีรายงานว่า มี CTR สูงถึง 6.49% ในหน้าวอล อินโวลเวอร์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการตลาดสังคม ประกาศว่า ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2009 ว่าสามารถบรรลุเป้า CTR ที่ 0.7% ในเฟซบุ๊ก (เป็น 10 เท่าของ CTR การโฆษณาในเฟซบุ๊ก) กับลูกค้าคือ เซเรนาซอฟต์แวร์ ถือเป็นลูกค้ารายแรกของอินโวเวอร์ ที่สามารถมีผู้ชม 1.1 ล้านครั้งจากผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ 8,000 คน จากการศึกษาพบว่า วิดีโอโฆษณาในเฟซบุ๊กนั้น ผู้ใช้ 40% ดูวิดีโอทั้งหมดของวิดีโอ ขณะที่ค่าเฉลี่ยมาตรฐานอยู่ที่ 25% ของโฆษณาแบบแบนเนอร์ในวิดีโอ
เฟซบุ๊กมีลูกจ้างมากกว่า 1,700 คน และมีสำนักงานใน 12 ประเทศ โดยมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กถือหุ้นของบริษัท 24% แอ็กเซล พาร์ตเนอร์ถือหุ้น 10% ดิจิตอลสกายเทคโนโลยีส์ถือหุ้น 10% ดัสติน มอสโควิตซ์ถือหุ้น 6% เอ็ดวาร์โด ซาเวรินถือหุ้น 5% ฌอน พาร์กเกอร์ถือหุ้น 4% ปีเตอร์ ธีลถือหุ้น 3% เกรย์ล็อกพาร์ตเนอร์สและเมริเทคแคพิทอลพาร์ตเนอร์ส ถือหุ้นระหว่าง 1 ถึง 2% แต่ละบริษัท ไมโครซอฟท์ถือหุ้น 1.3% ลิ คา-ชิงถือหุ้น 0.75% อินเตอร์พับลิกกรุปถือหุ้นน้อยกว่า 0.5% นอกจากนั้นยังมีลูกจ้าง
ปัจจุบันและอดีตลูกจ้างรวมถึงผู้มีชื่อเสียงอื่นถือหุ้นอีกน้อยกว่า 1% เช่น แมต โคห์เลอร์, เจฟฟ์ รอทส์ไชลด์, วุฒิสมาชิกรัฐแคลิฟอร์เนีย บาร์บารา บอกเซอร์, คริส ฮิวส์ และโอเวน แวน แนตตา ขณะที่รีด ฮอฟแมนและมาร์ก พินคัสเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท และที่เหลืออีก 30% ถือหุ้นโดยลูกจ้าง ผู้มีชื่อเสียงไม่เปิดเผยชื่ออีกจำนวนหนึ่ง รวมถึงนักลงทุนอื่น แอดัม ดี'แองเจโล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีและเพื่อนของซักเคอร์เบิร์กได้ลาออกไปในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2008 มีรายงานอ้างว่าเขาและซักเคอร์เบิร์กเริ่มไม่ลงรอยกัน และเป็นเหตุให้เขาไม่มีความสนใจในการเป็นหุ้นส่วนของบริษัท
อ้างอิงคัดสรรบทความแหล่งข้อมูล